สำมะโนประชากรและเคหะ
นานาสาระ ข้อมูลประชากร
4 ทศวรรษ....การสมรสของคนไทย
ในสังคมยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องวิ่งแข่งกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น หญิงไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนทัศนคติและค่านิยมเดิมๆ จาก “การอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน” กลายมาเป็นภาพ “หญิงเหล็ก” ที่ต้องทำงานหารายได้ให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่วายที่จะต้องรับผิดชอบงานบ้านงานเรือนเหมือนเดิม ซึ่งมีส่วนทำให้ไม่อยากจะดูแลใครอื่นอีก จึงทำให้หญิงไทยอยู่เป็น “โสด” มากขึ้น
|
ในภาวะสังคมยุคไซเบอร์ที่หญิงเลือกใช้ชีวิตอยู่ “คนเดียว” นานขึ้น อาจมาจากทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงจากการเป็นช้างเท้าหลัง พึ่งพาผู้ชาย มามีอิสระมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็น ตลอดจนดูแลตนเองได้ เพราะสามารถทำงานหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ทัดเทียมกับชาย ในสังคมยุคใหม่ หญิงมีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ทำให้หญิงส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่าการแต่งงาน และที่สำคัญ “ไม่กลัวขึ้นคาน” |
ข้อมูลจากสำมะโนประชากรและเคหะพบว่าอายุเฉลี่ยเมื่อสมรสครั้งแรกของหญิงเพิ่มสูงขึ้นจาก 22 ปีในปี 2513 เป็น 24 ปีในปี 2543 ซึ่งการยืดอายุสมรสของหญิงย่อมส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาวะเจริญพันธุ์ โดยยิ่งเลื่อนอายุการแต่งงานไปมากขึ้นเท่าใด ช่วงเวลาของโอกาสที่จะมีบุตรก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น
อายุเฉลี่ยเมื่อสมรสครั้งแรก จำแนกตามเพศ พ.ศ. 2513 - 2543
ที่มา : สำมะโนประชากรและเคหะ พ.ศ. 2513 2523 2533 และ 2543
การครองโสดของหญิงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหญิงอายุ 20-34 ปี ซึ่งอยู่ในวัยแต่งงานและมีความพร้อมในการมีบุตร แต่กลับพบว่ามีการครองโสดสูงขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 22 ในปี 2513 เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 33 ในปี 2543 นอกจากนี้ยังพบว่าหญิงไทยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปซึ่งถือว่าพ้นวัยเจริญพันธุ์ไปแล้วและยังคงครองโสดเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากร้อยละ 2.2 ในปี 2513 เป็นร้อยละ 4.6 ในปี 2543
จากแนวโน้มการแต่งงานที่ช้าลงและการอยู่เป็นโสดมากขึ้นของหญิงไทย ส่งผลโดยตรงต่อจำนวนประชากรของประเทศอย่างมาก เพราะเมื่อหญิงอยู่เป็นโสดมากขึ้น ขณะเดียวกันก็แต่งงานช้าลงด้วย ประกอบกับค่านิยมในการมีบุตรจำนวนน้อยลง ทำให้ประเทศเข้าสู่สภาพการขาดแคลนหนุ่มสาววัยแรงงานในอนาคต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันหน้าเข้ามาคุยกันอย่างจริงจังและร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ปัญหา เพื่อเตรียมพร้อมรับสังคมที่จะมีแต่คนแก่กันอย่างไรดี ซึ่งจะได้รู้กันเมื่อผลจากสำมะโนประชากรและเคหะที่จะจัดทำในเดือนกรกฎาคม 2553 ดำเนินการเสร็จ ที่สามารถบอกได้ว่า “หญิงไทยไม่กลัวขึ้นคานจริงหรือ????” |
|
