สำมะโนการเกษตร
-
สำมะโนการเกษตร
-
วันสำมะโน
-
ความเป็นมาและความสำคัญ
-
แนวคิดของการทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566
สำมะโนการเกษตร
เป็นการดำเนินการทางสถิติที่เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมข้อมูล การประมวลผล และนำเสนอผลข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรของประเทศ ได้แก่ จำนวนผู้ถือครองทำการเกษตร และเนื้อที่ถือครองทำการเกษตร (มีเท่าใด อยู่ที่ไหนบ้าง) ทำกิจกรรมการเกษตรอะไรบ้างและดำเนินการอย่างไร มีลักษณะทางประชากรศาสตร์ และลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรบ้าง โดยการเก็บข้อมูลจากเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตรทุกรายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เสมือนเป็นการฉายภาพนิ่ง แสดงให้เห็นลักษณะการทำการเกษตรของประเทศไทย ณ วันสำมะโน
วันสำมะโน
คือ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 กำหนดขึ้นเพื่อใช้อ้างอิงข้อมูลที่เก็บรวบรวม เช่น จำนวนผู้ถือครองทำการเกษตร เนื้อที่ถือครองทำการเกษตร จำนวนผู้ปลูกพืช ผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด
ความเป็นมาและความสำคัญ
ตามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ได้มีข้อแนะนำให้ประเทศสมาชิกจัดทำสำมะโนการเกษตร เพื่อให้มีชุดข้อมูลพื้นฐานด้านการเกษตรเพื่อใช้ประโยชน์อย่างเพียงพอ สำหรับการวางแผน เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาประเทศด้านการเกษตรและคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคการเกษตรของประเทศ พร้อมทั้งให้สามารถและเปรียบเทียบกับข้อมูลระหว่างประเทศได้ ประกอบกับมาตรา 6(4) แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 กำหนดให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำสำมะโนหรือสำรวจตัวอย่าง หรืออำนวยการให้มีการสำรวจด้านต่างๆ ของประเทศ สำหรับการจัดทำสำมะโนการเกษตรของประเทศไทยนั้น สสช. ได้จัดทำมาแล้ว 6 ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ. 2493 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2506 ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2521 ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2536 ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2546 และครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2556 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ FAO ที่ให้ทุกประเทศจัดทำสำมะโนการเกษตรทุก 10 ปี เป็นอย่างน้อย สสช. จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำสำมะโนการเกษตรอีกครั้งในปี พ.ศ. 2566
แนวคิดของการทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566
สำหรับการจัดทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 นี้ สสช. ได้มีแนวคิดในการปรับปรุงวิธีการทำสำมะโนการเกษตรด้วยการนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำสำมะโน เพื่อให้ประเทศมีฐานข้อมูลของผู้ทำการเกษตรอย่างครบถ้วน ทั้งที่อยู่ในและนอกทะเบียน นอกจากนี้ สสช. ยังได้ปรับกระบวนการจัดทำข้อมูลสถิติจากสำมะโนการเกษตรให้มีความทันสมัยขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาเป็นระบบงานสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการโครงการสำมะโนการเกษตรในทุกขั้นตอน เพื่อให้ข้อมูลจากสำมะโนการเกษตรมีความถูกต้อง ครบถ้วน และมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้ประเทศมีข้อมูลสถิติทางด้านการเกษตรที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเปรียบเทียบกับนานาชาติได้ และที่สำคัญมีข้อมูลอย่างเพียงพอในการติดตามและกำหนดแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาด้านการเกษตรของประเทศ ที่รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชากรในภาคการเกษตรด้วย และการจัดทำสำมะโนการเกษตรในครั้งนี้ ยังเป็นการพัฒนาการจัดทำสถิติด้านการเกษตรของประเทศด้วยรูปแบบการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน และใช้ประโยชน์ข้อมูลร่วมกันด้วย
การจัดทำสำมะโนการเกษตร
ขอบข่ายและคุ้มรวม
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ระเบียบวิธีทางสถิติ
แบบสอบถาม
การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์
วัตุถุประสงค์ของสำมะโนการเกษตร
ในการจัดทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
1) เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรที่เก็บรวบรวมจากผู้ถือครองทำการเกษตรทุกราย
2) เพื่อให้มีข้อมูลสถิติการเกษตรทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ย่อย สำหรับใช้ประกอบการวางแผนพัฒนาในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นต่อไป
3) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
4) เพื่อให้มีข้อมูลสถิติการเกษตร ที่เพียงพอต่อความต้องการใช้และทันสมัย
5) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำเป็นกรอบตัวอย่าง (Sampling frame) สำหรับการสำรวจด้านการเกษตร
6) เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางในการสะท้อนปัญหา และมีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการพัฒนาอาชีพ
ขอบข่าย
การทำการเกษตร หมายถึง การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด และการทำนาเกลือสมุทร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขาย ดังต่อไปนี้
1) การปลูกพืช ได้แก่ ข้าว ยางพารา พืชยืนต้นและไม้ผล สวนป่า พืชไร่ พืชผัก สมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การเพาะชำพันธุ์ไม้ การเพาะเห็ดและการเพาะเชื้อเห็ด (ให้รวมการปลูกข้าวเพื่อบริโภคด้วย)
2) การเลี้ยงสัตว์ รวมการเพาะพันธุ์สัตว์ ได้แก่ โค กระบือ สุกร แพะ แกะ ไก่ เป็ด ห่าน ไหม และการเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 (ให้รวมการเลี้ยงโค หรือกระบือเพื่อใช้งานเกษตรด้วย)
3) การเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด (รวมการเพาะฟักและ/หรืออนุบาลสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด) ได้แก่ สัตว์น้ำจำพวกปลา รวมปลาและสัตว์น้ำสวยงามอื่น ๆ กุ้ง สัตว์น้ำอื่น ๆ เช่น กบ ตะพาบน้ำ จระเข้น้ำจืด และสัตว์น้ำกร่อยที่นำมาเลี้ยงในพื้นที่น้ำจืด เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งขาว ปลากะพง
4) การทำนาเกลือสมุทร
หมายเหตุ
1. ในการนับจดสำมะโนการเกษตรครั้งนี้ ให้นับจดผู้ถือครองทำการเกษตร รวมในกิจกรรมดังต่อไปนี้ 1. การทำประมงน้ำจืด 2. การทำประมงทะเล และ 3. การเพาะเลี้ยงชายฝั่ง (รวมเพาะพันธุ์)
2. ไม่รวมการทำเกษตรเพื่อการศึกษา การทดลอง การแข่งขัน การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจ และไม่รวมการบริการทางการเกษตร เช่น การรับจ้างไถด้วยรถแทรกเตอร์ รับจ้างขุดบ่อ รับจ้างฟักไข่ รับจ้างผสมพันธุ์
3. “วัตถุประสงค์เพื่อขาย” ในที่นี้ให้รวมการทำการเกษตรที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขายในตอนแรก แต่มีการขายผลผลิตทางการเกษตร อาจเนื่องจากได้ผลผลิตจำนวนมาก หรือมีผู้ต้องการซื้อแล้วมีการขายผลผลิตเกิดขึ้นแล้ว เช่นนี้ ให้ถือว่าเป็นการทำการเกษตรโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายด้วย
คุ้มรวม
เกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตรทุกรายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่ในและนอกทะเบียน
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ข้อมูลสำมะโนการเกษตรในครั้งนี้ ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้พนักงานแจงนับไปสัมภาษณ์แบบเผชิญหน้า สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ และผู้ถือครองทำการเกษตรตอบข้อมูลเอง พร้อมบันทึกข้อมูลลงบนแบบสอบถามอิเล็กทรอนิกส์ ตามขั้นตอนและเงื่อนไขที่กำหนด โดยให้มีการนับจดและแจงนับไปพร้อมกัน
ระเบียบวิธีทางสถิติ
สำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 มีการนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมาใช้สนับสนุนในการจัดทำ โดยในการนับจดมีการปรับเปลี่ยนเป็นการนำข้อมูลทะเบียนมาใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการจัดทำกรอบสำมะโนด้วย สำหรับการเก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดหรือการแจงนับ ในการทำสำมะโนการเกษตรครั้งนี้ ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการแจงนับจากงานสนามผสมผสานกับการใช้ข้อมูลจากทะเบียน ระเบียบวิธีการแจงนับนั้น กำหนดให้มีการแจงนับครบถ้วนทุกผู้ถือครองทำการเกษตร นอกจากนี้ ยังมีการนำข้อมูลจากทะเบียนบางรายการมาใช้แทนการแจงนับด้วย
แบบสอบถาม
แบบสอบถามที่ใช้ในการทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 มี 2 แบบ คือ
1) แบบนับจด (สก.1) เป็นแบบที่ใช้สำหรับการนับจดผู้ถือครองทำการเกษตรทั้งหมดในแต่ละเขตปฏิบัติงาน เพื่อใช้ตรวจสอบความครบถ้วนของการปฏิบัติงาน และเพิ่มเติมผู้ถือครองทำการเกษตรรายใหม่ที่ไม่มีข้อมูลในฐานข้อมูลผู้ถือครองสำหรับสำมะโนการเกษตร
2) แบบแจงนับ (สก.2) เป็นแบบที่ใช้สำหรับการบันทึกข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการทำการเกษตรในที่ถือครองของผู้ถือครองทำการเกษตร
เวลาอ้างอิง
วันสำมะโน หมายถึง วันที่ 1 พฤษภาคม 2566
ในรอบ 12 เดือนที่แล้ว หมายถึง วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ถึง 30 เมษายน 2566
คาบเวลาการปฏิบัติงานสนาม
พฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2566
ประโยชน์ของข้อมูล
1) มีข้อมูลสถิติการเกษตรที่สำคัญ จำเป็น อย่างเพียงพอต่อความ ต้องการใช้และทันสมัย ผู้ใช้ข้อมูลทุกภาคส่วนนำไปใช้ประโยชน์ตามภารกิจได้
2) มีข้อมูลสถิติการเกษตรในระดับประเทศและระดับพื้นที่ย่อย เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการบริหาร กำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อพัฒนาการเกษตรและประชากรในภาคการเกษตร
3) มีชุดข้อมูลสำหรับวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเกษตรและการพัฒนาภาคการเกษตรและประชากรภาคการเกษตรของประเทศอย่างน้อยทุก 10 ปี
4) มีฐานข้อมูลผู้ถือครองทำการเกษตรที่ครอบคลุมทั้งผู้ที่อยู่ในและนอกทะเบียนเกษตรกรที่ใช้แลกเปลี่ยนเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน เพื่อใช้ประโยชน์ ข้อมูลร่วมกันได้
5) มีกรอบตัวอย่าง (Sampling frame) ที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้ในการเลือกตัวอย่าง สำหรับการสำรวจด้านการเกษตร
6) มีข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา ความต้องการ ของเกษตรกรทุกกลุ่ม