NSO

มาตรฐานสถิติ

0

หน้าแรก / มาตรฐานสถิติ / 6. การเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

6. การเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ

      เป็นการเสนอ (ร่าง) มาตรฐานสถิติที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถิติแห่งประเทศไทย ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถิติ พ.ศ. 2550 มาตรา 6 (2) ที่บัญญัติให้ สำนักงานสถิติแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำมาตรฐานสถิติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ถือว่ามาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานสถิติกลางของประเทศ

มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสถิติ มีดังนี้

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ได้มีมติดังนี้

  1. เห็นชอบร่างแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559-2565) ฉบับปรับปรุง เพื่อเป็นกรอบในการพัฒนางานด้านสถิติของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งแผนปฏิบัติการภายใต้ร่างแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2559-2565) ฉบับปรับปรุง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการและสนับสนุนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
  2. เห็นชอบการปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการระบบสถิติ โดยเปลี่ยนชื่อจากคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย ๓ ด้าน (ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) เป็น "คณะกรรมการสถิติประเทศไทย" พร้อมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบภายในคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และแนวทางการดำเนินงานในปัจจุบัน
  3. เห็นชอบการจัดประเภทผลิตภัณฑ์กลางประเทศไทย ปี 2563 และมาตรฐานการผลิตสถิติตัวแปร : สกุลเงิน เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำข้อมูลสถิติของหน่วยงาน โดยอ้างอิงการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ได้เห็นชอบมาตรฐานสถิติที่ดำเนินการแล้วเสร็จและประกาศใช้ไปแล้วความละเอียดแจ้งแล้วนั้น

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ ดังนี้

  1. เห็นชอบมาตรฐานสถิติที่ได้ดําเนินการแล้วเสร็จ พร้อมทั้งประกาศใช้เป็นมาตรฐานในการผลิตสถิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐนํามาตรฐานดังกล่าวใช้เป็นแนวทางในการจัดทําข้อมูลสถิติของหน่วยงานต่อไปเพื่อให้ข้อมูลสถิติของประเทศสามารถแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากข้อมูล ที่จัดทําขึ้นต่างช่วงเวลาและต่างแหล่งข้อมูลได้ร่วมกันสามารถนํามาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการกําหนดนโยบายหรือตอบโจทย์ตัวชี้วัดต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และเกิดความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากรในการผลิตสถิติของประเทศ
       มาตรฐานสถิติที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จประกอบด้วย มาตรฐานการผลิตสถิติตัวแปร: เพศ อายุ ประเทศ สถานภาพการทํางาน และอุตสาหกรรม
  2. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดทําสถิติให้เป็นไปตามแผนกําหนดความรับผิดชอบในการดําเนินงานทางสถิติตามแผนแม่บท 1 และดําเนินการให้ถูกต้อง ตามมาตรฐานสถิติ 
  3. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐจัดส่ง ข้อมูลการใช้ มาตรฐานสถิติ รวมถึงรายละเอียดของข้อมูล (Metadata) ตามมาตรฐานที่ สํานักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กําหนด ทั้งข้อมูลระดับย่อย (Microdata) และข้อมูลสถิติ เพื่อให้สสช. รวบรวมเป็นข้อมูลในการจัดทําศูนย์กลางรายการ  ข้อมูลภาครัฐ (National Data Catalogue and Directory services) และเพื่อให้สามารถติดตามและประเมิน สถานการณ์การพัฒนาสถิติของประเทศให้มีคุณภาพตามหลักการพื้นฐานสถิติทางการและสอดคล้องตาม มาตรฐานสากล สามารถนํามาใช้สนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหารและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า